วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

น้ำหอมไทย

น้ำหอมไทยโบราณ
ไม่ว่าเวลาจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย กลิ่นกายที่หอมกรุ่นก็ยังเป็นเสน่ห์ทางกาย และเสน่ห์ทางเพศอันบุรุษและสตรีพึงปรารถนา นับตั้งแต่บรรพบุรุษของเราได้ค้นพบการทำเครื่องหอมจากธรรมชาติ อาทิ น้ำอบ น้ำปรุง แป้งร่ำ แป้งพวง สีผึ้งทาปาก แป้งขมิ้น มาใช้ปรุงแต่งกลิ่นกายให้หอมหวนรัญจวนใจ
เมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีจากแป้งร่ำที่เคยผัดบนหน้าให้นวลผ่องก็เปลี่ยนมาเป็นแป้งฝุ่นที่สาวๆใช้ตบให้หน้าขาวเด้ง สีผึ้งที่มีให้เลือกไม่กี่สีพัฒนาเป็นลิปสติกหลากเฉดสีให้เลือก กระทั่งน้ำอบ น้ำปรุงที่คนสมัยก่อนใช้ประพรมร่างกาย เสื้อผ้า หรือนำไปใส่บุหงาเพิ่มความหอมเปรียบเสมือนน้ำหอมโบราณก็ค่อยๆหายไป กลายเป็นว่าน้ำหอมต่างประเทศเริ่มเข้ามาเป็นที่นิยมแทนที่
อย่างไรก็ตามยังมีกลุ่มคนที่นิยมของไทยและหลงใหลในกลิ่นของพันธุ์พฤกษา หวนกลับมาให้ความสำคัญกับ "น้ำปรุงดอกไม้"หรือน้ำหอมโบราณของไทย อนุรักษ์ความหอมแบบไทยให้คงอยู่โดยมีกลิ่นอันแสนรัญจวนไม่แพ้น้ำหอมต่างประเทศ
น้ำหอมโบราณจากดอกไม้สด
น้ำปรุงดอกไม้ หรือน้ำหอมโบราณของไทย ใช้ความหอมของดอกไม้หอมหลากหลายชนิด ผสมกับสมุนไพรไทย เช่น พิมเสน ผิวมะกรูด ใบเตย แพร่อานุภาพความหอมไปพร้อมกับการบำรุงสุขภาพ ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ทำให้น้ำปรุงแตกต่างไปจากน้ำหอมต่างประเทศ ซึ่งมีเพียงหัวน้ำหอมสกัดนำมาผสมกันเท่านั้น
เกศภนิศรณ์ เหล่าสินชัย คุณแม่ลูก 2 เจ้าของผลิตภัณฑ์เกศศณีศ์ ผู้หลงใหลในกลิ่นหอมของดอกไม้อันเป็นแรงบันดาลใจให้ศึกษาความเป็นมาและขั้นตอนวิธีการทำน้ำปรุงดอกไม้ไทย
"น้ำหอมต่างประเทศราคาแพง ชอบกลิ่นดอกไม้ไทยๆ หอมสดชื่นจึงเริ่มศึกษาวิธีการทำน้ำปรุงอยู่ 2 ปี กระทั่งปี 2547 จึงหันมาทดลองทำน้ำปรุงเอง แรกๆก็หาวัสดุใกล้ตัว มีด เขียง ผ้าขาวบาง กลีบดอกไม้หอมของไทย"
หญิงสาวค่อยๆอธิบายวิธีการสกัดหัวน้ำหอมจากดอกไม้แต่ละชนิดตรงหน้าให้ฟังว่า
"กุหลาบมีหลายพันธุ์ ไม่นิยมกุหลาบขาว ใช้กุหลาบแดงแบบหอม สกัดเอาสีและกลิ่น ส่วนกุหลาบแดงแบบที่กลิ่นไม่หอมสกัดเพื่อเอาสีอย่างเดียว โดยค่อยๆเด็ดกลีบดอกระวังไม่ให้ช้ำจนหมด นอกจากกลีบดอก กระเปาะเต็มไปด้วยเกสรดอกไม้สามารถนำไปใช้ได้"
"ดอกมะลิ คัดดอกไปลอยน้ำแช่ทิ้งไว้ตอนกลางคืน โดยไม่ให้ชิดกันมาก พอรุ่งเช้าดอกบานก็ตักทิ้ง แล้วนำดอกมะลิชุดใหม่โรยแช่ทิ้งไว้ เย็นใส่ใหม่ รุ่งเช้านำออกมาทำซ้ำกัน 3 ครั้งจะได้น้ำดอกมะลิหอมๆทำเป็นส่วนผสมของน้ำปรุง ดอกปีบแช่น้ำก็มีกลิ่นหอม ช่วงเย็นๆการเวกกำลังออกดอกส่งกลิ่นหอมก็เก็บมาแช่ไว้"
ดอกไม้หอมอย่างอื่นที่โบราณนำมาสกัดเป็นหัวน้ำหอมกลิ่นต่างๆได้แก่ ดอกปีบ กระดังงา ราชาวดี พิกุล ลำเจียก ซึ่งหญิงสาวบอกว่าปัจจุบันลีลาวดีหรือดอกกล้วยไม้ก็สามารถนำมาสกัดหัวน้ำมันหอม แต่ได้ในปริมาณไม่มากเช่นเดียวกับดอกบัว ในจำนวนดอกไม้หอมทั้งหมด ดอกจันทน์กะพ้อจัดว่าหายากออกดอกเพียงปีละครั้งจึงนำมาแช่แอลกอฮอล์ทิ้งไว้จนเหลืองส่งกลิ่นหอมจึงจะนำออกมาเก็บใส่กระปุกเก็บไว้รอนำออกมาปรุง
เกศภนิศรณ์ชี้ไปยังขวดโหลขนาดต่างๆกันภายในบรรจุน้ำสมุนไพร พิมเสน ชะมดเช็ด เรียงรายเป็นระเบียบข้างๆขวดบรรจุหัวน้ำหอมดอกไม้ไทยกลิ่นต่างๆ พร้อมกับอธิบายว่าทั้งหมดคือส่วนผสมหลักในการทำน้ำปรุงดอกไม้
หญิงสาวคนเดิมอธิบายต่อไปพร้อมกับลงมือสาธิตให้การทำน้ำปรุงให้ดู เริ่มจากขั้นตอนการสกัดน้ำสมุนไพรจากใบเตยและผิวมะกรูด เลือกใบเตยชนิดหอม ใบแก่ๆมาหั่นขนาด 1-2 เซนติเมตร แช่ทิ้งไว้ในน้ำแอลกอฮอล์ประมาณ 1-2 ชั่วโมง จึงตักออกมาพร้อมกับใส่ใบเตยชุดใหม่ลงไป หากต้องการกลิ่นหอมมากก็ทำซ้ำกันหลายครั้ง จากนั้นหั่นผิวมะกรูดลงไปแช่ 2-3 ครั้ง จึงกรองออกมาก็จะได้น้ำแอลกอฮอล์สีขาวเป็นสีเขียวเข้ม
ขั้นตอนต่อไปใส่พิมเสนลงในน้ำสมุนไพร จากนั้นใช้ไม้จิ้มชะมดเช็ดขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียวใส่ลงไปในใบพลูพร้อมกับผิวมะกรูด เพื่อทำการสะตุหรือการฆ่าเชื้อให้สะอาด
"ชะมดเช็ดขวดนิดเดียว 15 กรัมราคาพันกว่าบาท" เกศภนิศรณ์เล่าให้ฟัง ขณะที่ใช้เทียนลนไฟใต้ใบพลู เมื่อชะมดเช็ดละลายคะเคล้าผิวมะกรูด เปลี่ยนจากกลิ่นเหม็นคาวส่งกลิ่นหอมโชยมาแตะจมูกเป็นสัญญาณให้หยุดการลน พร้อมกับใส่ลงไปในน้ำสมุนไพร
ขั้นตอนหลังจากนี้เป็นการนำเอาน้ำสมุนไพรดังกล่าวมาผสมกับหัวน้ำหอมดอกไม้ ส่วนจะเป็นกลิ่นอะไรบ้างนั้นขึ้นอยู่กับนาสิกในการรับกลิ่นของแต่ละคนว่าจะชอบกลิ่นไหน บางคนอาจจะใส่กลิ่นเดียว หรืออาจจะนำเอาหลายๆกลิ่นมาผสมเข้าด้วยกัน แล้วจึงเขย่าให้เป็นเนื้อเดียวกัน ทิ้งไว้ 1 เดือนเพื่อให้หมดกลิ่นแอลกอฮอล์ นำมากรองให้ใส ใส่ขวดบรรุจุภัณฑ์เพื่อความสวยงาม
เพื่อความพิเศษกว่าน้ำหอมน้ำปรุงทั่วไป เกศภนิศรณ์ เผยว่าเธอได้นำเอาว่านสาวหลง ซึ่งเป็นว่านสิริมงคล แถมยังมีกลิ่นหอมใส่รวมไปด้วย "คิดว่าทำแล้วก็น่าจะทำไม่เหมือนใคร มีทั้งความหอมและเป็นสิริมงคลอยู่ในตัว"
เมื่อนำไปวางจำหน่าย น้ำปรุงที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มลูกค้ามากที่สุดคือกลิ่นดอกไม้รวม รองลงมาคือกลิ่นดอกราชาวดี และกลิ่นดอกปีบ
"คนส่วนใหญ่ชอบน้ำหอมต่างประเทศ คนสมัยใหม่พอเห็นน้ำปรุงดอกไม้ไทยก็จะงงว่าคืออะไร แต่เท่าที่ลูกค้าตอบรับกลับมาก็ดี บางคนซื้อไปแตะเสื้อติดทั้งวัน หรืออย่างกลุ่มแม่บ้านเกษตรนิยมนำไปฉีดผ้าไหม กลับมาเล่าให้ฟังว่าเป็นที่ชื่นชอบของฝรั่ง ไปขายรามคำแหง เด็กวัยรุ่นชอบมาก ซื้อแล้วกลับมาซื้ออีก บางคนซื้อขวดเล็กขวดละ 40 บาทกลับไปหลายแพ็ก บางคนสั่งซื้อขนาด 20 ซีซี หรือ แพ็กคู่ 350 บาทถือว่าแพงสุดในร้าน ยอดขายถือว่าพออยู่ได้ ถ้ามีการตลาดดีๆคงเพิ่มยอดขาย" หญิงสาวเผยความในใจทิ้งท้ายว่า "ทำตรงนี้ภูมิใจที่ได้อนุรักษ์ของไทยๆ มันเป็นของไทยที่คนลืมไปแล้ว เรามารื้อฟื้น"
น้ำปรุงดอกไม้กลิ่นอโยธยา ล้านนา ฯลฯ
จันทนา ภู่เจริญ อาจารย์คณะคหกรรม วิทยาลัยอาชีวศึกษา พระนครศรีอยุธยา เป็นอีกคนหนึ่งที่สนใจศึกษาเรื่องของเครื่องหอม ส่วนหนึ่งในวิชาที่เธอใช้สอนลูกศิษย์ กระทั่งปรุงออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ "บ้านเก้ากลิ่น"
"ทำมา 10 กว่าปี โดยหน้าที่เป็นครูสอนวิชาเครื่องหอม ประกอบกับช่วงที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศฉลองอยุธยาเป็นมรดกโลก จึงได้ค้นคว้าเรื่องเครื่องหอมอย่างจริงๆจังๆ พบว่ามีมาตั้งแต่อยุธยา ตอนกลาง แต่เป็นการกล่าวถึงน้ำอบปรากฏในวรรณคดี ใบลาน ช่วงบ้านเมืองเจริญใช้น้ำอบไทย อบร่ำสไบ เจ้านายในวังนิยมใช้อบผ้า พอถึงรัตนโกสินทร์ตอนกลางมีการติดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ พร้อมกับนำเข้าแอลกอฮอล์ พัฒนาจากน้ำอบมาเป็นน้ำปรุง"
อาจารย์จันทนาอธิบายการทำน้ำอบ เครื่องหอมในสมัยโบราณต่อไปว่า " อยุธยาใช้ความร้อนเรียกว่าอบร่ำ พอถึงรัชกาลที่ 5 ถึงเริ่มมีการกลั่นได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศส บีบคั้นกับพืชที่มีเปลือกค่อนข้างหนา กลิ่นออกมาตามเซลล์ของผิว เช่นมะกรูด การใช้ความร้อน เช่นกระดังงา เอาไฟไปลนกระเปาะใต้กลีบให้ละลายน้ำมันหอมออกมา การใช้ไขมันวัวบริสุทธิ์ดูดกลิ่นดอกไม้ และพัฒนาการล่าสุดกับวิธีการใช้คาร์บอนไดออกไซด์เหลวเป็นที่นิยมเพราะให้ปริมาณของกลิ่นเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ราคาแพง"
จากปี 2530 ที่เธอเริ่มทำหน้าที่แม่พิมพ์ จำนวนดอกไม้ที่ใช้สอนมีเพียง 9 ชนิดได้แก่กุหลาบ มะลิ ลำเจียก พิกุล ชำมะนาด กระดังงา ดอกแก้ว พุทธชาด พิกุล จันทน์กะพ้อ ปัจจุบันเธอบอกว่าเพิ่มขึ้นเป็น 50-60 กว่าชนิด อย่างไรก็ตามเพื่อให้ทันกับความต้องการของตลาด ซึ่งต้องใช้ดอกไม้สดจำนวนมากด้วยเหตุนี้การนำดอกไม้สดมาใช้จึงมีให้เห็นน้อยลง คุณสมบัติของน้ำปรุงที่ดีต้องมีลักษณะสีเขียวใสมรกต มีกลิ่นหอมเย็น ไม่มีตะกอน กลิ่นติดทนนานเกิน 1 ชั่วโมง
"ใช้ดอกไม้จริงทำเป็นธุรกิจไม่ทัน กุหลาบ 1 ตันสกัดน้ำมันหอมระเหยได้ 2.2 กิโลกรัม จึงใช้ดอกไม้น้อยลง หันมาซื้อหัวน้ำมันสกัดสำเร็จมาปรุงแทนดอกไม้ไทยเดี๋ยวนี้ใช้โครงสร้างกลิ่น เลียนแบบดอกไม้จริงโดยใช้โครงสร้างทางเคมี ประกอบด้วย คาร์บอนไดออกไซด์ ออกซิเจน ไฮโดรเจน" นอกจากนี้หัวน้ำมันหอมบางชนิดยังต้องนำเข้าจากตุรกีและเมืองน้ำหอมอย่างฝรั่งเศส
เธอเล่าถึงความนิยมน้ำหอมแบบไทยๆว่า "เหมือนแฟชั่นขายได้ทุกกลิ่นพอๆกัน น้ำปรุงขายดีในงานวัฒนธรรม น้ำปรุงไม่นิยมโดด ไม่ใช้กลิ่นดอกไม้โดดๆ แต่จะใช้แต่ละกลิ่นชูโรง หลักๆ 3 กลิ่นตัวน้ำหอม ตัวตามและตัวท้าย ถ้าปรุงผิดกลิ่นเปลี่ยนต้องดูว่าจะให้กลิ่นอะไรนำ กลิ่นอะไรตามท้าย กลิ่นช่วยผสมผสานให้กลิ่นอื่นๆโชยออกมาแล้วปรุงตามนั้น"
"กลุ่มผู้บริโภคมีหลายกลุ่ม วัยรุ่นปรุงกลิ่นทันสมัย กำลังลองผสมผสานการปรุงด้วยดอกไม้ภาคต่างๆออกมาเป็นน้ำหอมตามภาคเช่นกลิ่นภาคเหนือ สุโขทัย อโยธยา ลับแล กลิ่นภาคเหนือเรียกว่ากลิ่นล้านนาปรุงออกมาให้สัมผัสได้ถึงดอกไม้ป่า ไอหมอก ความเย็น ส่วนกลิ่นสุโขทัยจะเป็นกลิ่นของสายน้ำ กลิ่นภาคอีสานยังไม่ได้นำรู้ว่ามีรากฐานวัฒนธรรมมาจากบ้านเชียง ก็จะทำกลิ่นหินดินทราย ตีโจทย์วัฒนธรรมประเพณีในแต่ละภาค รวมถึงดอกไม้ประจำภาคนำมาทำกลิ่นถามว่าใช่น้ำปรุงหรือไม่ คิดว่ากลายๆ ความเชื่อของคนน้ำหอมจะดูดีกว่าน้ำปรุง ซึ่งมองว่าเชยๆโบราณ ความรู้สึกไม่ทันสมัย จึงเรียกชื่อใหม่แต่ก็ยังเป็นน้ำปรุงอยู่ ทำอย่างไรให้คนนิยมของไทย ประกาศให้น้ำปรุงภูมิปัญญาไทยเป็นที่นิยม"
น้ำปรุงดอกไม้ในตลาดน้ำหอม
รวิวรรณ รุ่งเรือง เจ้าของร้านพีรญาแสดงความเห็นถึงความนิยมว่า "น้ำปรุงจริงๆก็คือน้ำหอมของคนโบราณที่ใช้ปะพรมร่างกาย หรือใส่ในบุหงา กลิ่นจะเข้มข้น ให้ความรู้สึกวังเวง บ้างรู้สึกหอมชื่นใจ โบราณเอาดอกไม้มาแช่แอลกอฮอล์ใช้เวลานานเป็นเดือน ปัจจุบันลัดขั้นตอนด้วยการนำเอาน้ำมันหอมมาใช้ผสมกัน ส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้ใช้น้ำมันหอมดอกไม้แทนดอกไม้สด ทำให้เกิดความเพี้ยนจากน้ำปรุงมาเป็นน้ำหอม"
"สงครามโลกครั้งที่ 2 น้ำหอมต่างประเทศเข้ามามาก แทบไม่ต้องโฆษณา เป็นค่านิยมว่าโก้หรู ส่วนใหญ่แทบจะลืมน้ำอบน้ำปรุงกันแล้ว ออกจำหน่ายกลุ่มคนอนุรักษ์ไทยนำไปใช้ พอคนใกล้ชิดได้กลิ่นหอมชื่นใจจึงมาซื้อไปใช้บ้าง วิธีการนำไปใช้โดยหยดใส่ผ้าเช็ดหน้าเพื่อให้เจือจางหอมอ่อนๆ เวลาโชยมาหอมชื่นใจ มีเอกลักษณ์ไทยๆส่วนผสมของมะกรูด ใบเตย พิมเสน เมื่อดมแล้วให้ความรู้สึก โอ้โห้ ไทยมาก ชาวต่างชาตินิยมซื้อเป็นลิตร ซื้อไปกลับมาซื้ออีกถึงกับขอสูตร กลิ่นน้ำปรุงที่นิยมได้แก่กลิ่นจันทร์กะพ้อ กลิ่นรสสุคนธ์ และกลิ่นดอกปีบ"
สำหรับอาจารย์จันทนาแสดงความเห็นทิ้งท้ายถึงความนิยมน้ำหอมดอกไม้ไทยว่า "ขายความเป็นไทย ถือเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ดี ตราบใดที่คนยังติดในรูปรสกลิ่น"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น