วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2554

ยาดมพม่า

ยาดมพม่า หรือยาหอม อะปาทะ หรือบ้างเรียก ยาปอดลุก ตามสูตรดั้ง เดิมของพม่าปรุงจากสมุนไพร 3 ชนิด คือ กานพลู ดอกจันทน์ พริกไทย สรรพคุณแต่ละอย่างมีดังนี้

1. กานพลู ส่วนที่ใช้เป็นยาคือดอกตูม ใช้ทั้งส่วนที่เป็นดอกตูมแห้ง กับส่วนที่เป็นน้ำมันที่ได้จากการกลั่นดอกตูมนั้น โดยที่ดอกตูมของกานพลูใช้เป็นยามาแต่โบราณ ทั้งหมอจีน หมออินเดีย ใช้เป็นยาช่วยย่อย แก้ท้องเสีย แก้ไส้เลื่อน แก้กลากเกลื้อน ฮ่องกงฟุต และในโรคระบบทางเดินหายใจ

ต่อมากานพลูแพร่เข้าไปในยุโรป เป็นส่วนประกอบยารักษาโรคเกาต์ของหมอชาวเยอรมัน ซึ่งขณะนั้นดอกกานพลูเป็นของมีค่าและหายากยิ่ง ความต้องการดอกกานพลูและเครื่องเทศอื่นๆ ของเอเชียกระตุ้นให้เกิดยุคแห่งการสำรวจและค้นหาดินแดนนอกทวีปยุโรป จวบจน ค.ศ.1512 นักสำรวจชาวสเปนนำกานพลูกลับบ้านและที่สุดก็แพร่หลาย ใช้กันทั่วในยุโรป เป็นยาช่วยย่อย แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้คลื่นไส้อาเจียน แก้ท้องเสีย แก้ไอ แก้หูด แก้ปวดฟัน และอีกสารพัดตามแต่เชื่อกันไป

ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 19 กานพลูแพร่เข้าไปในอเมริกา ประกอบยาช่วยย่อยอาหาร และผสมลงไปในยารสขมเพื่อช่วยกลบรส ทั้งมีการพัฒนาโดยกลั่นน้ำมันจากกานพลู หรือ clove oil รักษาโรคเหงือกและแก้ปวดฟัน โดยมีฤทธิ์เป็นยาชา

2. ดอกจันทน์และลูกจันทน์ เป็นเครื่องยาและเครื่องเทศที่รู้จักกันทั่วโลก ลูกจันทน์ได้จากเมล็ดของผลจันทน์เทศ ส่วนดอกจันทน์ได้จากเยื่อรกสีแดงที่หุ้มเมล็ดของผลจันทน์เทศ ดอกจันทน์มีองค์ประกอบเป็นน้ำมันระเหยง่าย ราวร้อยละ 7-14 น้ำมันนี้มีองค์ประกอบหลักเป็นสารไมริสติซิน (myristicin) สารนี้ในขนาดสูงๆ อาจทำให้เกิดอาการเคลิ้มฝัน เลื่อนลอย ถ้ากินในปริมาณมากขึ้นก็อาจทำให้เกิดอาการมึนเมา หัวใจเต้นเร็ว ผิวหนังแดง กระหายน้ำ กระวนกระวายใจ ปวดท้อง วิงเวียน เห็นภาพซ้อน เพ้อคลั่ง ซึ่งอาการพิษต่างๆ นี้ จะกลับเป็นปกติใน 24 ชั่วโมง

ตำรายาว่าดอกจันทน์มีกลิ่นหอม รสเผ็ดร้อน มีสรรพคุณบำรุงโลหิต บำรุงกำลัง บำรุงผิวเนื้อให้เจริญ บำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการ ขับลม แก้ปวดมดลูก และใช้เป็นเครื่องปรุงแต่งอาหารคาวหวานหลายชนิด

3. พริกไทย เป็นเครื่องเทศที่ใช้กันแพร่หลายมาเป็นเวลานาน เมื่อนำพริกไทยมากลั่นด้วยไอน้ำ จะได้น้ำมันหอมระเหย เรียกว่าน้ำมันพริกไทย ในปริมาณร้อยละ 2-4 นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาโอลิโอเรซินพริกไทย โดยนำพริกไทยมาสกัดด้วยตัวทำละลาย พบว่า โอลิโอเรซินประกอบด้วยสารจำพวกอัลคาลอยด์ ที่สำคัญคือ piperine (ร้อยละ 5-9), piperidine, piperanine ฯลฯ ซึ่ง piperine และ piperanine นี้เองเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดกลิ่นฉุนและรสเผ็ด สรรพคุณตามตำรับยาไทยคือใช้เป็นยาขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ บำรุงธาตุเจริญอาหาร ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ และกระตุ้นประสาท ทั้งมีรายงานว่า piperine ใช้แก้ลมบ้าหมูได้

เกี่ยวกับโทษของยาดม นาวาโทบริพนธ์ สุวชิรัตน์ กรมแพทย์ทหารเรือ อธิบายว่า ยาดมประกอบด้วยสารของเมนทอล การบูร ซึ่งเมื่อสูดดมเข้าไปแล้วจะทำให้เยื่อบุโพรงจมูกยุบตัวลง ทำให้รู้สึกหายใจโล่งสบาย การที่สูดดมเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบได้ โดยเยื่อบุจมูกก็คือส่วนที่อยู่ด้านในของจมูก หรือที่เรียกว่าโพรงจมูก คนที่มีเยื่อบุจมูกอักเสบจะมีอาการบวมของโพรงจมูก ทำให้จมูกคัดหรือตีบและมีน้ำมูกไหล
ยาดมพม่าส่วนผสมจะเป็นสมุนไพรที่มีนำมันหอมระเหย มีสรรพคุณในเรื่องบำรุงหัวใจ เช่น ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน กานพลู พริกไทย โปยกั๊ก อบเชย สมุลแว้ง เนื้อไม้ เทียน โกฐ ต่าง ๆ อัตราส่วนแล้วแต่จะผสมแล้วลองดมดู แต่งกลิ่นตามใจชอบนะจะจะบอกให้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น